วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วิธีการเลี้ยงนกหงส์หยก



การเลี้ยงนกหงส์หยกเพื่อให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการหรือให้เกิดผลเสียหายน้อยที่สุดกับลูกนกที่จะเกิดมาถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญต้องเอาใจใส่รายละเอียดเล็กๆน้อยๆอย่างมากที่สุดด้วย  ทั้งนี้วิธีการต่างๆก็ต้องด้วยประสบการณ์ และการสังเกตลองผิดลองถูกในระยะเวลาพอสมควร เพราะการเลี้ยงดูลูกนกของพ่อ-แม่นกแต่ละคู่ แต่ละคอกก็แตกต่างกัน วิธีการที่ดีบางอย่างอาจจะใช้ได้ผลกับนกบางคู่ และเช่นกันวิธีการที่ดีเดียวกันนั้นก็มักจะใช่ไม่ได้ผลกับพ่อ-แม่นกคู่อื่นๆเลย  ทั้งนี้พฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกนกของนกแต่ละตัวขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อม อากาศ อาหาร ความสมบูรณ์ของพ่อ-แม่นก และผู้เพาะเลี้ยงนกหงส์หยกก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลี้ยงนกหงส์หยกให้ได้ผลดีอย่างที่ต้องการหรือไม่
                  สภาพแวดล้อมในการที่จะทำการผลิตลูกนกให้ได้ผลดี ต้องมีมีการรบกวนจากสัตว์อื่นๆที่เป็นอันตรายกับนกหงส์หยก เช่น งู หนู แมลง ต่างๆ ขณะที่นกกำลังเข้าคู่ผสมพันธุ์หรือขณะดูแลเลี้ยงลูกนกอยู่ ทั้งนี้การจับนกเข้าคู่ที่ได้ผลดีที่สุด คือ การแยกเข้าคู่นกเพียงคู่เดียวต่อกรงเพาะนกหนึ่งคู่  จะให้ผลผลิตที่ดีและสมบูรณ์มากที่สุดกว่าการปล่อยนกบินในกรงรวม แล้วให้นกจับคู่ผสมพันธุ์กันเอง วิธีการนี้เหมาะสำหรับการเลี้ยงนกหงส์หยกเพื่อความเพลิดเพลิน หรือเลี้ยงประดับสวนเพื่อความสวยงามโดยไม่ต้องการให้นกขยายพันธุ์ไปมากมายนัก
                 อากาศที่เหมาะสำหรับการเพาะขยายพันธุ์นกหงส์หยกต้องเป็นอากาศที่อบอุ่นไม่ร้อนหรือหนาวมากเกินไป เพราะจะส่งผลเสียหายต่อการเพาะขยายพันธุ์นกหงส์หยกได้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมาการเพาะพันธุ์นกหงส์หยกในฤดูหนาวน่าจะได้ผลผลิตที่ดีที่สุดคือในช่วงเดือน พฤศจิกายน ถึงเดือนมกราคม ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีอากาศที่อบอุ่น อุณหภูมิไม่ติดลบ ก็จะได้ผลดีกับฟาร์มเพาะเลี้ยงที่อยู่ในอาคารบ้านเรือนแต่สำหรับบางฟาร์มที่เป็นที่โล่งแจ้งมีน้ำล้อมรอบก็ไม่เหมาะกับการเพาะพันธุ์ในฤดูหนาวนี้มากนัก เพราะลูกนกเมื่อใกล้ถึงกำหนดฟักเป็นตัว เมื่อเปลือกไข่เริ่มแตกออก อุณหภูมิภายนอกเข้าไปได้ทำให้ลูกนกหงส์หยกตายก่อนฟักออกเป็นตัวในอัตราการตายที่สูง ในทางกลับกันในช่วงฤดูร้อนเดือน เมษายน- กรกฎาคม เป็นช่วงที่ร้อนที่สุด สำหรับประเทศไทยทำให้ฟาร์มที่อยู่ในอาคารบ้านเรือนร้อนอบอ้าว พ่อ-แม่นกบางคู่ไม่สามารถกกไข่ให้ผลผลิตที่ดีในช่วงนี้ได้มากนักผิดกับฟาร์มที่อยู่ในที่โล่งแจ้ง และมีน้ำล้อมรอบเป็นบริเวณกว้าง หรือโรงเรือนกลางน้ำ จะทำ
ให้การเพาะขยายพันธุ์ได้ผลผลิตดี ดังนั้นการที่จะเข้าคู่ผสมพันธุ์นกหงส์หยกในช่วงอากาศใดก็ต้องดูความเหมาะสมด้วยถือเป็นการพัก พ่อ-แม่นกไปด้วย เพื่อให้นกมีสุขภาพ แข็งแรงสมบูรณ์ไม่โทรมจากการเพาะขยายพันธุ์ตลอดทั้งปี
                 อาหารและความสมบูรณ์ของพ่อ-แม่พันธุ์นกหงส์หยก สำหรับอาหารที่ใช้เลี้ยงนกหงส์หยกผู้เลี้ยงก็ต้องสังเกตและเอาใจใส่  ผสมสูตรอาหารเองตามความเหมาะสมเพราะนกที่จะนำมาทำพ่อแม่พันธุ์ต้องให้อาหารกับนกแล้วไม่ทำให้พ่อแม่พันธุ์อ้วนมากเกินไป เช่น ข้าวโอ๊ด เมล็ดทานตะวัน การออกกำลังกายของพ่อแม่พันธุ์นกเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดด้วย  ก่อนการผสมพันธุ์แต่ละครั้งต้องให้พ่อแม่พันธุ์นกออกกำลังเสริมสร้างความสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อ  แคลเซี่ยมประมาณ 2 เดือน พร้อมกับให้นกผลัดขนให้เรียบร้อยก่อนจับนกเข้าคู่ เมื่อพ่อแม่นกกำลังเลี้ยงลูกอาหารที่สำคัญ เช่นขนมปัง ข้าวโพดอ่อน โดยเฉพาะ ข้าวโอ๊ด ข้าวไรน์ ต้องให้ในอัตราส่วนมากขึ้นด้วย บางฟาร์มอาจจะให้อาหารเสริม จำพวก ซ๊อฟฟู้ด ก็จะเป็นสิ่งที่ดีกับลูกนกด้วยเช่นกัน
                      ผู้ทำการเพาะเลี้ยงนกหงส์หยกมีผลกระทบอย่างไรกับการผลิตลูกนก อาจจะกล่าวได้ว่าผู้เพาะเลี้ยงมีส่วนสำคัญอย่างมากคือ ต้องเป็นคนที่เอาใจใส่ดูแลและหมั่นสังเกตพฤติกรรมต่างๆของนกทำความสะอาดกรงเพาะ โรงเรือน ไม่รบกวน พ่อ-แม่พันธุ์นกซึ่งอาจจะทำให้นกเกิดความเครียดได้ เช่น นกไม่กกไข่ พ่อแม่จิกตีลูกตัวเอง ไม่ป้อนอาหารให้กับลูกนกเป็นต้น
                   การเอาใจใส่ดูแลลูกนกที่ให้ได้ลูกนกสมบูรณ์ มีอัตราการตายที่ลดลง โดยเบื้องต้นควรให้พ่อแม่นกเลี้ยงลูกนกไม่เกินคอกละ2 ถึง 3 ตัว ถ้ามากกว่านี้จะทำให้ลูกนกที่ได้มีโครงสร้างและความสมบูรณ์ไม่มีคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อพ่อ-แม่พันธุ์นกที่ดีออกไข่แล้วไม่จำเป็นต้องให้พ่อ-แม่พันธุ์ที่ดีมีราคาแพงต้องฟัก และเลี้ยงลูกเองควรนำไข่ไปให้พ่อแม่นกมือปืนที่ไข่ในวันเวลาเดียวกัน รับไปฟัก และเลี้ยงดูลูกนกแทน  วิธีการนี้จะทำให้พ่อ-แม่พันธุ์นกที่ดีมีเวลาพักโดยส่วนมากจะให้พ่อ-แม่พันธุ์นก เข้าคู่ปีละประมาณ 4 ครั้ง โดยพักครั้งละ 3 เดือนในแม่พันธุ์นก ส่วนพ่อพันธุ์นกที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงและเจริญพันธุ์ดี สามารถนำไปเข้าคู่ผสมพันธุ์กับแม่นกตัวอื่นๆได้เลย เพราะนกพ่อแม่พันธุ์ถ้าไม่ปล่อยให้เลี้ยงลูก ก็จะไม่ป่วยและไม่ทรุดโทรม ผิดกับแม่พันธุ์นกถ้ายิ่งให้เลี้ยงลูก หรือออกไข่ติดๆกันโดยไม่พักจะทำให้แม่นกตายได้เร็วกว่าที่ควรจะเป็นและได้ลูกนกที่ไม่มีคุณภาพด้วยซึ่งเป็นการเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายต่างๆอีกมากในการเลี้ยงลูกนกที่ไม่สมบูรณ์นั้น
                 การเลี้ยงลูกนกหงส์หยก ของพ่อแม่พันธุ์นกบางคู่จะไม่ค่อยสนใจเลี้ยงลูกนกเมื่อลูกนกมีอายุได้ 2-3 สัปดาห์พ่อแม่นกอาจจะไม่สนใจป้อนอาหารให้กับลูกของมันซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ลูกนกต้องการอาหารอย่างมาก เพื่อการเจริญเติบโตผู้เพาะเลี้ยงต้องหมั่นสังเกตลูกนกว่า พ่อแม่นกป้อนลูกนกสมบูรณ์หรือไม่โดยจับลูกนกดูว่ากระเพาะลูกนกมีอาหารเต็ม  ลำตัว ขา ปีก อ้วนท้วนสมบูรณ์จับดูแล้วไม่ผอมแห้งถ้าลูกนกได้รับอาหารไม่เพียงพอผู้เพาะเลี้ยงควรป้อนอาหารสำหรับลูกนกเสริมในเวลาเย็น อีกครั้งหนึ่งก็จะเป็นการดี เพราะจะช่วยให้ลูกนกไม่หิวไปจนถึงเช้า และจะทำให้ลูกนกมีความสมบูรณ์แข็งแรงเพิ่มขึ้นด้วย  บางคู่เมื่อลูกนกมีอายุได้ 3 สัปดาห์ให้สังเกตพ่อหรือแม่นกป้อนลูกเก่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นพ่อนกที่ทำหน้าที่ได้ดีวิธีการนี้ให้นำแม่นกออกจากกรงเพาะปล่อยให้พ่อนกเลี้ยงลูกโดยลำพังจะทำให้พ่อนกสนใจลูกนกมากขึ้นป้อนอาหารได้สมบูรณ์เต็มที่ เพราะไม่มีแม่นกที่จะมาสนใจ ผสมพันธุ์ต่อไปและถือเป็นการพักแม่นกอีกวิธีหนึ่งด้วย








นกหงส์หยก

          นกหงส์หยก(Zebra Parakeet)
          ชื่อวิทยาศาสตร์ Melopsittacus Undulatus 
          ชื่ออื่นที่ใช้เรียกคือ Shell Parrot, Zebra Parakeet, Warbling Grass Parakeet, Undulated Parrot

ประวัติและความเป็นมา

          ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของ Budgerigar นั้นอาศัยอยู่ตามทุ่งหญ้าทั่วไปในออสเตรเลียปัจจุบันมักเรียกสั้นลงว่า บั๊ดจี้ส์ (Budgies) และ Parakeet ก่อนหน้ามีผู้เข้าใจ ว่านกนี้อยู่ในจำพวก Lovebird แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับแล้วว่าเป็นคนละชนิดกัน ชื่อเรียก Budgerigar เป็นชื่อซึ่งเพี้ยนมาจากสำเนียงพื้นเมืองในออสเตรเลียที่เรียกว่าBetcherrygah แปลว่าอาหารดี หรือกินอร่อย บุคคลแรกที่ได้ศึกษาและนำเรื่องราวในฐานะเป็นนกใหม่ เป็นนักสัตวศาสตร์ชาวอังกฤษ ชื่อ กูลด์ (Gould) ซึ่งได้เข้าไปศึกษาชีวิตการเป็นอยู่ของสัตว์ต่างๆ ในออสเตรเลีย เมื่อ 110 ปีที่แล้ว

          ชนิดและสีของนกหงส์หยก สีขั้นพื้นฐานในปัจจุบันของนกหงส์หยกชนิดธรรมดาได้แก่ สีเขียว(Green) สีฟ้า(Blue) สีเหลือง(Yellow) และขาว สีที่กล่าวมาแต่ละสีมีชื่อเรียกแยกออกไปตามความอ่อนแก่ของ สี โดยแยกเป็นน้ำหนักสีคือ อ่อน , กลาง และ แก่

          นอกจากสีธรรมดาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีอีก 3 ชนิดที่ควรทราบคือ

           โอแพล์ลิน (Opaline) ชนิดสีนี้มิได้กล่าวเจาะจงว่าเป็นสีใดโดยเฉพาะ แต่จะมีลักษณะเป็น ที่สังเกตุดังนี้ บนคอ ใต้คอ และตรงขอบปีกติดกับไหล่จะไม่มีลายหรือจุด และจะต้องมีสีเหมือนกับ สีของลำตัว สีพื้นของปีก(มีลาย) ก็มีสีประมาณเป็นสีเดียวกับลำตัวเช่นเดียวกัน (นกชนิดธรรมดา ตัวเขียวจะมีหัวเหลือง ใต้คอเหลือง มัจุด 6 จุด และพื้นปีกก็เป็นสีเหลือง)

           เผือก อัลบิโนส์ (Albinos) ลักษณะที่สังเกตคือ สีตลอดตัวจะประมาณได้เป็นสีเดียว เริ่ม ตั้งแต่ขาวปลอดทั้งตัวหรือมีสีค่อนไปทางสีฟ้า

           ลูติโนส์ (Lutinos)เป็นนกที่มีสีเหลืองปลอด หรือมีสีค่อนไปทางเขียวทั้ง 2 ชนิด คือขาว และเหลืองนี้ ลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดคือต้องมี นัยน์ตาสีแดง

ลักษณะทั่วไป

          นกหงส์หยก เป็นนกที่มีขนาดเล็ก มีลวดลาย และสีสันที่สวยงาม และสามารถแยกออกเป็นหลายพันธุ์ในตระกูลเดียวกัน นกหงษ์หยกเป็นนกที่ชอบแต่งตัวและรักสะอาด ชอบแต่งขนหน้ากระจก เราควรมีกระจกให้แก่นกด้วย โดยให้กระจกเหมาะสมกับจำนวนของนก บางครั้งเราควรที่ใช้ฟร็อคกี้ หรือ ที่ฉีด ฉีดน้ำให้เป็นฟอยๆกระจาย นกจะมาเล่นน้ำเพื่อทำความสะอาดขน และก็จะแต่งขน ซึ่งจะทำให้นกมีขนที่สวยงาม

การดูเพศนก

          การดูเพศของนกนั้นไม่ยากเลย สามารถที่จะสังเกตได้ ไม่ยาก โดยดูที่จมูกของนก ในนกตัวผู้เมื่อเจริญเต็มที่หรือพร้อมที่จะผสมพันธุ์ จมูกนกจะเป็นสีฟ้าเข้ม และในนกตัวเมียนั้นจมูกของนกเมื่อเจริญเต็มที่หรือพร้อมที่จะผสมพันธุ์ จมูกของนกจะมีสีออกเป็นสีเนื้อหรือสีน้ำตาลเข้ม สีดังกล่าวจะ เข้มขึ้นเรื่อยๆเมื่ออยู่ในระยะผสมพันธุ์

          นกหงษ์หยกจะจับคู่เมื่อมันพร้อมที่จะผสมพันธุ์ โดยสังเกตได้จาก นกอยู่กันเป็นคู่ ไซร้ขนให้กัน จะคอยป้อนอาหารให้กัน

การเลี้ยงดู

          นกหงส์หยกสามารถเลี้ยงดูได้ง่าย ส่วนมากนิยมเลี้ยงกันในกรงขนาดใหญ่พอที่ นกสามารถบินได้ และต้องมีขนาดให้พอเหมาะกับจำนวนของนกด้วย ตำแหน่งการตั้งกรงนั้นไม่ควร ตั้งไว้ในที่ๆมีอากาศร้อน หรือที่มีลมโกรกมาก ควรไว้ในที่ๆ มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อาหารและน้ำของต้องมีให้นกกินทุกวัน และควรเปลี่ยนอาหารและน้ำทุกวัน เพราะถ้าไม่เปลี่ยนอาจเป็นแหล่งเพราะโรค ของนกได้

          โดยธรรมชาติ นกหงส์หยกจะอยู่รวมกันเป็นฝูง ฉะนั้นถ้าเลี้ยงรวมในกรงใหญ่ เครื่องเล่นต่างๆอาจ ไม่จำเป็น แต่ถ้าเลี้ยงเพียงตัวเดียวหรือคู่เดียว เครื่องเล่นต่างๆก็ไม่อาจมองข้าม นอกจากอุปกรณ์เช่น ถ้วย หรือจานสำหรับใส่อาหาร น้ำ ผัก ทราย ที่ทุกกรงจะขาดไม่ได้และควรมี  Clofood (อาหารที่มีส่วนผสมของขนมปัง ไข่ และธาตุที่มีประโยชน์อื่นๆ)

อาหารของนกหงส์หยก

          ข้าวฟ้าง คืออาหารหลักของนกหงษ์หยก ซื้อได้ตามร้านค้าทั้วไปปัจจุบันอยู่ที่ ราคาประมาณ ถุงละ 20 บาท เป็นเมล็ดพืชเมล็ดเล็กๆ ควรซื้อแบบที่แบ่งขายใส่ถุง มากกว่า เพราะจะทำให้อาหารดูสด และป้องกันฝุ่นได้

          เมล็ดกวด แคลเซียม(กระดองปลาหมึก) เป็นสิ่งสำคัญสำหรับนกเลยทีเดียว จากประสบการณ์ของผู้เขียน คิดว่าสำคัญมากเพราะเมล็ดกวดหรือแคลเซียม(กระดองปลาหมึก)จะช่วยย่อยอาหาร ในลูกนกถ้าขาดของพวกนี้อาจจะมีอาการผิดปกติ ไม่แข็งแรง หรือตายได้ เมล็ดกรวด อาจจะนำมาจากทรายก็ได้แต่ควรล้างด้วยน้ำสะอาดเสียก่อน แคลเซียม(กระดองปลาหมึก) อาจจะหาซื้อได้ในร้านที่ขายนกร้านใหญ่ หรืออาจจะหาซื้อได้ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ราคาไม่หน้าแพงมาก ขายอยู่ที่ราคาประมาณ อันละ 5 บาทซึ่งมีขนาดใหญ่

          ผักใบเขียว เป็นตัวบำรุง นกที่สำคัญ เช่น กระหล่ำดอก คะน้า ผักกาดเขียว ผักบุ้ง เป็นต้น และต้องล้างให้สะอาดด้วยเพื่อป้องกันยาฆ่าแมลง

          น้ำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่นกจะขาดไม่ได้เลย ควรเปลี่ยนน้ำทุกวัน เพราะถ้านกที่เป็นโรคขี้ลงไปอาจทำให้เป็นที่เพาะเชื้อโรค ถ้านกตัวอื่นกินเข้าไปอาจพากันติดกันหมดทั้งกรงได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น